ผังการแสดง & รอบการแสดง
ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หอประชุมใหญ่
ราคาบัตร
รอบประชาชน : 2,000 / 1,800 / 1,000 / 800 / 600
รอบนักเรียน : 180
รายละเอียด
เมื่อกุมภกรรณยักษ์ที่มีคุณธรรม หลงเชื่อคำยุยงของทศกัณฐ์เพื่อช่วยทศกัณฐ์ในการทำศึกกับพระราม... พบกับเรื่องราวความพิเศษของการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน กุมภกรรณทดน้ำ ที่รวบรวมองค์ความรู้จากครูผู้เชี่ยวชาญทุกสาขา ทั้งโขน ละคร ดนตรี คีตศิลป์ มารวมกันเพื่อการแสดงที่ยิ่งใหญ่ นอกจากการแสดงที่วิจิตรงดงาม ผู้แสดงล้วนเป็นเยาวชนรุ่นใหม่ที่ผ่านการคัดเลือกและฝึกซ้อมจากครูผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ จนมีฝีมือการร่ายรำอันงดงามถูกต้องตามจารีต นอกจากนี้ยังได้รับฟังการบรรเลงดนตรีและขับร้องเพลงไทยอันไพเราะ และรับชมความวิจิตรของเครื่องแต่งกายอันประณีต พบกับความพิเศษของสุดยอดฉากการแสดงที่ยิ่งใหญ่ตระการตา ของกุมภกรรณทดน้ำเพื่อไม่ให้ไหลไปสู่พลับพลา ฉากหนุมานแปลงกายเป็นเหยี่ยวใหญ่ ฉากหนุมานดำลงสู่ใต้น้ำและอีกมากมาย ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อการแสดงโขนที่ยิ่งใหญ่บนเวที โดยมีกำหนดจัดแสดงขึ้นในระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2566 ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เริ่มดำเนินการจัดแสดง ชุดศึกอินทรชิต ตอนพรหมาศ ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2550 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ได้รับความชื่นชมจากประชาชนเป็นอย่างมาก มีพระราชเสาวนีย์ ให้จัดการแสดงโขนต่อเนื่องทุกปี อาทิ ตอนนางลอย ตอนศึกมัยราพณ์ ตอนจองถนน ศึกกุมภกรรณตอนโมกขศักดิ์ ศึกอินทรชิตตอนนาคบาศ ตอนพิเภกสวามิภักดิ์ ตอนสืบมรรคา ตอนสะกดทัพ ส่งผลให้การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ได้รับการสนับสนุนและกระแสตอบรับเป็นอย่างดีมีผู้เข้าชมเต็มทุกที่นั่ง
สำหรับปี 2566 นี้ นับเป็นปีมหามงคลของปวงชนชาวไทยอีกวาระหนึ่ง เนื่องในวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 71 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 91 พรรษา มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จึงร่วมเฉลิมฉลองโอกาสมหามงคลนี้ ด้วยการจัดการแสดงโขนตอน “กุมภกรรณทดน้ำ” โดยยึดแนวบทละครเรื่อง รามเกียรติ์ ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จับตอนตั้งแต่ หลังจากที่กุมภกรรณทำศึกโมกขศักดิ์ กับพระลักษมณ์แต่ไม่สำเร็จ ยังไม่สามารถสังหารพระลักษมณ์ได้ จึงคิดหาวิธีทำ กลศึก นิมิตกายลงไปใต้น้ำทำพิธีทดน้ำนอนขวางแม่น้ำไว้ เพื่อขัดขวางกองทัพพระราม ผลการต่อสู้และจุดจบ ของเรื่องราวกุมภกรรณทดน้ำจะเป็นอย่างไรนั้น ติดตามรับชมได้ในการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน "กุมภกรรณทดน้ำ” จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 5 พฤศจิกายน - วันที่ 5 ธันวาคม 2566 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย บัตรราคา 2,000 บาท1,800 บาท 1,000 บาท 800 บาท และ 600 บาท (รอบนักเรียน ราคา 180 บาท) เปิดจำหน่ายบัตรแล้ววันนี้ที่เคาน์เตอร์ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ ทุกสาขา โทร. 0-2262-3456
ครั้งแรก รบกับสุครีพโดยออกอุบายให้สุครีพไปถอนต้นรังใหญ่ที่อุดรทวีป เพื่อให้หมดกำลัง สุครีพไม่รู้ทันในอุบาย ถอนต้นรังมาได้ก็มารบต่อ กุมภกรรณไม่รอให้ทันตั้งตัวรีบโถมออกไปรบ สุครีพเสียท่าถูกกุมภกรรณเอา แขนตวัดหัวสุครีพเข้าหนีบรักแร้คว้าตัวพากลับไปลงกา แต่หนุมานกับองคตตามไปช่วยไว้ได้
ครั้งที่สาม กุมภกรรณทดน้ำ หลังจากที่กุมภกรรณพุ่งหอกโมกขศักดิ์สำเร็จแล้วได้กลับมาทูลบอกทศกัณฐ์ ณ ท้องพระโรงกรุงลงกา สองสารัญทูตกองตระเวนเข้ามาทูล บอกว่าฝ่ายพระรามแก้ฟื้นพระลักษมณ์ได้แล้ว กุมภกรรณจึงอาสาไปทดน้ำเพื่อให้กองทัพพระรามอดน้ำตายหมด กุมภกรรณกลับไปที่ตำหนักสั่งความลบกับนางคันธมาลีพระสนมเอกและนางกำนล คนสนิทให้ปกปิดแหล่งที่ไป แต่สั่งให้นางคันธมาลีและนางกำนัลทั้งสี่มีหน้าที่เก็บดอกไม้ไปบูชาทุกวัน จากนั้นกุมภกรรณได้ไปที่เชิงเขามรกตเหนือพลับพลาที่ตั้งของกองทัพฝ่ายพระราม กุมภกรรณออกไปจนถึงต้นกร่างใหญ่ริมแม่น้ำ ได้ร่ายเวทวิทยาแล้วลงไปใต้น้ำนอนทดน้ำจนน้ำเหือดแห้งไหลเปลี่ยนทิศทางไปทางอื่น
พลวานรฝ่ายพลับพลาพระรามออกมาตักน้ำไปใช้ เห็นน้ำแห้งหายจึงกลับไปบอกนาย สุครีพทูลพระรามถึงเรื่องนี้ พระรามถามพิเภก พิเภกทูลว่าเป็นกลศึกของฝ่ายกรุงลงกาที่ให้กุมภกรรณไปทดน้ำ แต่ไม่รู้แหล่งสถานที่ที่กุมภกรรณไปทำพิธี พระรามใช้ให้หนุมานทหารเอกไปทำลายพิธีเสีย หนุมานแปลงกายเป็นเหยี่ยวใหญ่แอบซุ่มไปสืบข่าวจนรู้แน่ว่านางคันธมาลีและนางกำนัลที่สนิทอีกสี่คนมีหน้าที่เก็บดอกไม้ไปบูชา ณ ที่ที่กุมภกรรณทดน้ำ ครั้นถึงเวลาที่นางคันธมาลีและบริวารไปเก็บดอกไม้ สบโอกาสหนุมานที่แปลงเป็นเหยี่ยวโฉบนางกำนัลที่รั้งท้ายไป แล้วตนเองลอบแปลงเป็นนางกำนัลในหมู่ตามนางไป เมื่อถึงฝั่งน้ำเห็นน้ำวนรู้แหล่งที่แล้วจึงแผลงฤทธิ์ไล่ฝูงนางกำนัลไปหมด หนุมานดำน้ำลงไปเห็นกุมภกรรณนอนร่ายเวทวิทยาขวางลำน้ำ จึงเข้าถีบแล้วต่อสู้กันจนกุมภกรรณเสียพิธีหนีกลับเข้ากรุงลงกา
ครั้งที่สี่ ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย กุมภกรรณออกตรวจพลแล้วยกทัพออกมารบกับฝ่ายพระราม กุมภกรรณพร้อมด้วยนนทกาลสูรมหาเสนาผู้เป็นทหารเอก พร้อมเหล่าโยธาพลากร ทั้งสองฝ่ายเมื่อประจันทัพ กุมภกรรณสั่งเสนา ออกรบก็แพ้พ่ายนนทกาลสูรเข้ารบกับพญาวานรจนสิ้นชีวิต กุมภกรรณเข้ารบกับพระราม พระลักษมณ์ด้วยความสามารถและฤทธิ์เดช ในที่สุดพระรามแผลงศรพรหมาสตร์ถูกกุมภกรรณแต่ยังไม่สิ้นชีวิต แล้วเห็นพระรามมีสี่กร จึงรู้ตัวว่าประมาทพลาดพลั้งไปไม่เชื่อคำตักเตือนของพิเภกอนุชา กุมภกรรณขอพระราชทานโทษสำนึกผิดและฝากฝังพิเภกกับพระราม พระรามเห็นว่ากุมภกรรณเป็นยักษ์ดีมีคุณธรรม ที่คิดประมาทพลั้งผิดเพราะรักพวกพ้องพงศ์พันธุ์ มิอาจปฏิเสธคำสั่งของทศกัณฐ์ได้ จึงได้พระราชทานอภัยโทษและให้กุมภกรรณได้ขึ้นสวรรค์ตามคำขอกราบบังคมทูลและไม่คิดพยาบาทต่อกัน
การแสดงโขนในครั้งนี้ นำการออกศึกของกุมภกรรณในครั้งที่สามและครั้งที่สี่ ซึ่งเป็นศึกสุดท้ายของ กุมภกรรณมาจัดแสดง มีจุดประสงค์ให้เห็นถึงความรักสามัคคี ความผูกพันของพี่น้องวงศ์ญาติที่ไม่อาจตัดขาดกันได้ ประกอบกับการให้อภัยไม่จองเวรให้เป็นบาปกรรมสืบต่อกัน ซึ่งคุณธรรมเหล่านี้เป็นหลักคิดที่ควรคงอยู่เป็นแบบอย่างอันดีงามสืบไปในสังคมปัจจุบัน
ความเป็นมาของโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงห่วงใยว่า โขนซึ่งเป็นสมบัติทางศิลปวัฒนธรรมอันงดงามของไทยจะเสื่อมสูญไปทั้งที่โขนเคยใช้เป็นการแสดงพระราชทานแก่พระราชอาคันตุกะของบ้านเมืองและเป็นที่ชื่นชมอย่างยิ่งเสมอมา จึงมีพระราชดําริที่จะฟื้นฟูโขนให้กลับคืนสู่ความนิยมของคนไทย โดยมีพระราชเสาวนีย์ให้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนขึ้นใหม่อย่างประณีตทั้งศิราภรณ์และพัสตราภรณ์ ให้ศึกษาวิธีการแต่งหน้าโขนที่เปิดหน้าให้สวยงามเหมาะสมกับการแสดงบนเวทีสมัยใหม่ และให้ส่งเสริมนักเรียนนักศึกษาผู้ใฝ่ใจในการแสดงโขนให้มีความรู้ความสามารถยิ่งขึ้น พระราชเสาวนีย์นี้จึงก่อให้เกิดช่างฝีมือรุ่นใหม่ขึ้นเป็นจํานวนมาก ทั้งช่างทําหัวโขน ช่างทอผ้า ช่างปักสะดึงกรึงไหม ช่างเงินช่างทอง ช่างแกะสลัก ช่างเขียน และช่างแต่งหน้าโขน ผู้มีความเข้าใจในศิลปะและจารีตนิยมของโขนอย่างถ่องแท้
มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้ดําเนินการรับสนองพระราชเสาวนีย์ดังกล่าวจนลุล่วง และจัดการแสดงโขนถวายเป็นปฐมทัศน์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในมหามงคลวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗๕ พรรษา เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๐ ในชุด พรหมาศ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงจนต้องจัดแสดงซ้ำ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการแสดงโขนให้ประชาชนชมเป็นประจําทุกปีตลอดมา และเรียกกันโดยความเข้าใจว่า โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จนถึงปัจจุบัน
-
เเท็กที่เกี่ยวข้อง :
- การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน กุมภกรรณทดน้ำ
- การแสดงโขนมูลนิธิ
- โขน
- กุมภกรรณทดน้ำ
-
ช่องทางการจำหน่าย :
- Website
- Thaiticketmajor Outlets
- Thai Post
- Major Cineplex Outlets
- Call Center TTM 02-2623456
- Lotus's
- Big C
- xplORe