ผังการแสดง & รอบการแสดง
รายละเอียด
งานประเพณีลอยกระทงของไทย มีมาแต่สมัยสุโขทัย โดยมีคติความเชื่อว่าเป็นการบูชา และขอขมาพระแม่คงคาเป็นการสะเดาะเคราะห์ และบูชาพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์ หรือเป็นการบูชารอยพระบาท เป็นต้น
งานลอยกระทงเริ่มทำตั้งแต่ กลางเดือน11 ถึงกลางเดือน12 ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลาก น้ำจะเต็มสองฝั่งแม่น้ำ ที่นิยมมากคือ ช่วงวันเพ็ญเดือน 12 เพราะพระจันทร์เต็มดวง ทำให้แม่น้ำใสสะอาด แสงจันทร์ส่องเวลากลางคืน เป็นบรรยากาศที่สวยงาม เหมาะแก่การลอยกระทง
บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องพิธีสิบสองเดือน กล่าวไว้ว่า การลอยพระประทีป ลอยกระทงนี้ เป็นนักขัตฤกษ์ที่รื่นเริงทั่วไปของชนทั้งปวงทั่วกัน ไม่เฉพาะแต่การหลวง แต่จะนับว่าเป็นพระราชพิธีอย่างใดก็ไม่ได้ ด้วยไม่มีพิธีสงฆ์ พิธีพราหมณ์อันใดที่เกี่ยวข้องเนื่องในการลอยพระประทีปนั้น เว้นไว้แต่จะเข้าใจว่า ตรงกับคำที่ว่า ลอยโคมลงแช่น้ำเช่นกล่าวมาแล้ว แต่ควรนับถือว่าเป็นราชประเพณีซึ่งมีมาในแผ่นดินสยามแต่โบราณ ตั้งแต่พระนครยังอยู่ฝ่ายเหนือ เมื่อตรวจดูในกฎมนเฑียรบาลซึ่งได้ยกมาอ้างในเบื้องต้น ต่อความที่ว่า พิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคมลงน้ำไป มีข้อความต่อไปว่า “ตั้งระทาดอกไม้ในพระเมรุ 4 ระทา หนัง 2 โรง” การเรื่องนี้ก็คงจะตรงกันกับที่มีดอกไม้เพลิงที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามและที่ชลาทรงบาตร บูชาหอพระในพระบรมมหาราชวัง ต่อนั้นไปก็ว่าด้วยการลอยพระประทีปที่ว่าในกฎหมายนี้มีเนื้อความเข้าเค้าเรื่องนพมาศ ซึ่งว่า ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ซึ่งเป็นพระสนมเอก แต่ครั้งพระเจ้าอรุณมหาราช คือพระร่วง ซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินสยาม ตั้งแต่กรุงตั้งอยู่ ณ เมืองสุโขทัย ได้กล่าวไว้ว่า ในเวลาฤดูเดือนสิบสองเป็นเวลาเสด็จลงประพาสในลำน้ำตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน พระอัครมเหสีและพระสนมฝ่ายใน ตามเสด็จในเรือพระที่นั่งทอดพระเนตรการนักขัตฤกษ์ ซึ่งราษฎรเล่นในแม่น้ำตามกำหนดปี เมื่อนางนพมาศได้เข้ามารับราชการ จึงได้คิดอ่านทำกระทงถวายพระเจ้าแผ่นดิน เป็นรูปดอกบัวและรูปต่างๆให้ทรงลอยตามสายน้ำไหล และคิดคำขับร้องถวายแด่พระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระดำริจัดเรือพระที่นั่งเทียบขนานกันให้ใหญ่กว้าง
หนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ได้บรรยายถึงลักษณะของกระทงที่นางนพมาศประดิษฐ์ถวายพระร่วงเจ้า ดังนี้
“...การพระราชพิธีจองเปรียง ในวันเพ็ญเดือนสิบสอง เป็นวันนักขัตฤกษ์ชักโคม ลอยโคม นางนพมาศ ได้ประดิษฐ์โคมลอย ตกแต่งเป็นรูปดอกกระมุทมาน กลีบรับแสงพระจันทร์ ใหญ่ประมาณเท่ากระทงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้เป็นลวดลาย แล้วก็เอาผลพฤกษาลดาชาติมาแกะจำหลักเป็นรูปมยุระคณาวิหคหงส์ ให้จับจิกเกสรบุปผชาติอยู่ตามดอกกระมุทเป็นระเบียบเรียบร้อยวิจิตรไปด้วยสีย้อมสดสว่างควรจะทอดทัศนายิ่งนัก ทั้งเสียบแซม เทียน ธูปและประทีปน้ำมันเปรียงเจือด้วยไขข้อพระโค...” (ดอกกระมุท หือโกมุท เป็นดอกบัวประเภทบัวเผื่อน บัวผัน ที่ขยายกลีบบานในเวลากลางคืน กลางวันหุบ ระแทะ คือล้อเกวียน) นอกจากการลอยกระทงแล้ว ในศิลาจารึกหลักที่ 1 บรรทัดที่ 14 ยังได้กล่าวถึงการเผาเทียนเล่นไฟว่า
“...เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากประตูหลวง เที้ยรย่อมคนเสียดกัน เข้ามาดูท่านเผาเทียนเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้มีดั่งจักแตก...” ท่านผู้รู้ทั้งหลานสันนิษฐานว่างานดังกล่าวนั้นน่าจะเป็นการเผาเทียนเล่นไฟ ในงานเทศการลอยกระทง เพราะมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก จากข้อความในศิลาจารึกตอนนี้นายนิคม มุสิกคามะ ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเมื่อปี พ.ศ.2520 ได้เสนอให้จังหวัดสุโขทัยพลิกฟื้นประวัติศาสตร์ประเพณีลอยกระทงขึ้นให้เป็นงานระดังชาติ เพื่อแนะนำจังหวัดสุโขทัย เพื่อให้ชื่องานตามศิลาจารึกว่า “งานเผาเทียน เล่นไฟ” จุกเน้นที่เป็นหัวใจของงานนี้คือ การฟื้นฟูประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ พลุ ตะไล ไฟพะเนียง ดอกไม้ไฟชนิดต่างๆ ดังนั้นจังหวัดสุโขทัย กรมศิลปากร และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงได้ร่วมกันจัดงานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 เป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน โดยใช้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นสถานที่จัดงานดังกล่าว
เอกลักษณ์ประเพณีประลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ เป็นที่เลื่องลือ มีทั้งกระทงทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ งานฝีมืออันวิจิตรที่สะท้อนความประณีตของช่างศิลป์เมืองสุโขทัย ตลาดปสานโบราณ หรือตลาดแลกเบี้ย การจำลองบรรยากาศการซื้อ ขาย แบบโบราณ ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสถึงกลิ่นอายวัฒนธรรมด้วยการแลกหอยเบี้ยแทนเงินสด เพื่อใช้ซื้อขาย อาหารพื้นเมือง และการแสดงแสง สี เสียง สัมผัสเรื่องราวประวัติศาสตร์มนต์เสน่ห์อารยธรรมเมืองมรดกโลก
พิธีและกิจกรรมในภาคกลางวันจะมีขบวนแห่นางนพมาศ และการออกร้าน จัดนิทรรศการ ส่วนในเวลากลางคืนจะมีการประดับไฟ หรือจุดเทียนตามโบราณสถานต่างๆซึ่งมีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ของงานประเพณีลอยกระทงจังหวัดสุโขทัย มีการลอยกระทง และจุดดอกไม้ไฟอย่างสวยงามทั่วท้องน้ำและตระพังต่างๆ ใบบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีการจัดประกวดกระทง การแสดงแสง เสียงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์กรุงสุโขทัย ณ บริเวณวัดมหาธาตุ ตลอดจนการแสดงนาฏศิลป์และมหรสพต่างๆ
----------------------------------------------------------------------------------------------------
ประเพณีข้าวขวัญวันเล่นไฟ ประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลแก่ผู้มาเยือนจังหวัดสุโขทัย เป็นการรับประทานอาหารร่วมกันของผู้มาเยือนเมืองสุโขทัย ในโอกาสงานประเพณีเผาเทียนเล่นไฟเริ่มจัดเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2536 และจัดมาทุกปี มีการขายบัตรรับประทานอาหารร่วมกันบนเสื่อ ณ บริเวณลานหน้าวัดมหาธาตุ ระหว่างเวลาประมาณ 17.30- 19.15 น. พร้อมชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมสุโขทัยที่สวยงามตลอดการรับประทานอาหาร เป็นประเพณีที่จัดขึ้นเพื่อเป็นขวัญและสิริมงคลแก่ผู้มาเยือน สร้างความรักสามัคคีและให้ถูกธรรมเนียมต้อนรับแขกโดยเราชาวไทยได้รับการอบรมสั่งสอน บอกกล่าว เล่าขาน สืบสานกันต่อๆ มา เป็นธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ ประเพณีข้าวขวัญวันเล่นไฟ จึงได้ถือกำเนิดขึ้นด้วยเหตุผลและความเป็นมาดังกล่าว ชื่อประเพณี "ข้าวขวัญวันเล่นไฟ มีความหมายว่า การกินให้เป็นมิ่งขวัญสิริมงคล ทำให้เกิดความสุขความเจริญตลอดทั้งปี วัตถุประสงค์ที่สำคัญของประเพณีข้าวขวัญวันเล่นไฟ คือ การรักษาธรรมเนียมไทยในการเลี้ยงข้าวปลาอาหาร เพื่อสร้างความรักความเข้าใจ กระชับสัมพันธไมตรี บรรยากาศในงานมุ่งเน้นเอกลักษณ์ไทย ทั้งการแต่งกายแบบไทยๆ การนั่งล้อมวงบนเสื่อ การใช้โตกแทนโต๊ะอาหาร การเลือกอาหารพื้นบ้าน การตั้งอาหารย้อนสู่ยุคสุโขทัยเป็นราชธานี การแสดงของท้องถิ่นสุโขทัย ตลอดจนการบรรเลงดนตรีไทย โดยในปีนี้ สมาคมการท่องเที่ยวจังหวัดสุโขทัยผู้รับผิดชอบการจัดงานได้คัดสรรอาหารดังขึ้นชื่อของจังหวัด อาทิ ข้าวเปิ๊ป ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย แกงหยวก คั่วขนุน ปลารากกล้วยทอด ปลาเห็ด ลอดช่องคีรีมาศ กล้วยเชื่อมบ้านครูอิ๋ว ฯลฯ สำหรับผู้สนใจกิจกรรม "ข้าวขวัญวันเล่นไฟ สามารถหาซื้อบัตรได้ที่ Thai Ticket Major บัตรราคาที่ละ 500 บาท
Sukhothai Gala Dinner
Sukhothai Gala Dinner or “Khaw Kwan Wan Len Fire” is traditionally held to welcome special guest who visit Sukhothai during Loy Kratong Light and Candle Festival every year since 1993.
Sukhothai Gala Dinner is a Sukhothai style Khantoke dinner. Guests will be welcomed to join dinner together on the mat at the front of Wat Mahathat and enjoy with Sukhothai art and cultural shows and music throughout the meal. For those who want to taste and try Sukhothai authentic cuisine and hospitality, we have selected Sukhothai famous foods such as Khao Perb, Sukhothai Noodles, young banana curry, fried fish paste, etc.
Sukhothai Gala Dinner will be held daily from 17.30 – 19.15 during Loy Kratong Light and Candle Festival from November 21st to 25th, 2015. Sukhothai Gala Dinner will be arranged by Sukhothai Tourism Association. Tickets are available at Thai Ticket Major at 500 baht per person.
-
เเท็กที่เกี่ยวข้อง :
- การแสดงงานลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย ประจำปี 2560
- ลอยกระทง
- เผาเทียน เล่นไฟ
- สุโขทัย
-
ช่องทางการจำหน่าย :
- Website
- Thaiticketmajor Outlets
- Thai Post
- Major Cineplex Outlets
- Call Center TTM 02-2623456
- Lotus's
- Big C