Barbra Joan Streisand เกิดเมื่อวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1942 เป็นชาวอเมริกันในวงการฮอลีวูดที่มีการบันทึกอาชีพอย่างเป็นทางการ 4 อาชีพ ได้แก่นักร้อง นักแสดง ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์และผู้กำกับ อีกทั้งมีส่วนร่วมในการประพันธ์เพลง เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เคยได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงหญิงยอดเยี่ยม และเพลงยอดเยี่ยม นอกจากนั้นยังได้รับอีกหลายรางวัลจากรางวัลเอมมี รางวัลแกรมมี รางวัลลูกโลกทองคำ

Barbra Streisand เกิดที่ย่านบรูกลิน นครนิวยอร์ก ปู่ของเธอเป็นคนในหมู่บ้านเล็ก ๆ ในฮังการีอพยพมาอยู่ในนิวยอร์ก พ่อเสียชีวิตตั้งแต่เธออายุ 16 เดือน แม่ซึ่งทำงานเป็นเลขานุการที่โรงเรียน และแต่งงานใหม่ แต่เธอไม่ลงรอยกับพ่อเลี้ยงใหม่ ทำให้เธอมักใช้เวลาว่างหลบไปดูละครและภาพยนตร์ และฝันอยากที่จะเป็นดารา เธอเรียนมัธยมที่ Erasmus Hall High School เป็นสมาชิกนักร้องของโรงเรียน เพื่อนสมาชิกที่สนิทด้วยคือ นีล ไดมอนด์ กับบ็อบบี้ ฟิชเชอร์ เมื่อเธอเข้าเรียนที่วิทยาลัย เธอรับงานพิเศษช่วงกลางคืน เป็นนักร้องที่ The Bon souir บาร์เกย์ชื่อดังย่านกรีนนิชวิลเลจ

ต่อมาในปี ค.ศ. 1961 เธอได้รับการคัดเลือกเป็นตัวประกอบ ในละครบรอดเวย์เรื่อง I can get it for you Wholesale ที่นี่ทำให้เธอพลรักกับดาราที่ชื่อ เอลเลียต กูลด์ ซึ่งกลายมาเป็นสามีคนแรกของเธอ จากละครเรื่องนี้ทำให้มีแมวมองจากซีบีเอส ขอเซ็นสัญญากับเธอ มีซิงเกิลแรกคือ Happy Days Are Here Again ออกจำหน่ายในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1962 เสียงตอบรับดีพอใช้ ต่อมาต้นปี 1963 เธอออกผลงานอัลบัมชุดแรกที่ชื่อ The Barbra Streisand Album มีเพลงดังอย่าง "Cry Me A River" รวมทั้ง "Happy Days Are Here Again" ในงานประกาศรางวัลแกรมมี่ประจำปี Barbra Streisand ได้รับรางวัลแกรมมี่ในสาขานักร้องหญิงดีเด่น จากความสำเร็จของอัลบั้มชุดหนึ่ง ตามด้วยอัลบั้มชุดสองและชุดสาม เธอยังคงกลับไปแสดงละครบรอดเวย์ รับบท แฟนนี ไบรซ์ ในละครเพลงเรื่อง Funny Girl มีเพลงดังอย่าง "People" ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ. 1968 Funny Girl สร้างเป็นภาพยนตร์ แสดงคู่กับโอมาร์ ชารีฟ ดาราชายชาวอาหรับจาก ดอกเตอร์ชิวาโก




ในปี ค.ศ. 1968 เธอแสดงในภาพยนตร์เรื่อง Hello Dolly รับบทตัวเอกคู่กับวอลเตอร์แมตเธา และมีแขกรับเชิญอย่าง หลุยส์ อาร์มสตรอง ส่วนเพลงเอกนอกจาก Hello Dolly ยังมีเพลง "Before The Parade Passes By"

ในช่วงที่เกิดสงครามเวียดนาม เธอไม่เห็นด้วยกับนโยบายของประธานาธิบดีนิกสัน ที่เข้าไปแทรกแซงการเมืองในเวียดนาม เธอเดินขบวนปราศรัยช่วยหาเสียงให้กับวุฒิสมาชิก จอร์จ แม็กกัฟเวิร์น ในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เป็นเหตุทำให้เธอถูกขึ้นบัญชีดำจากประธานาธิบดีนิกสัน แต่ทางผู้ชื่นชอบยังให้การต้อนรับเธออยู่ อย่างผลงานภาพยนตร์เรื่อง What's Up Doc? (1972), Up The Sand box (1972) ไม่ได้รับการต้อนรับเท่าที่ควร แต่เธอมาดังอีกครั้งกับภาพยนตร์เรื่อง The Way We Were ภาพยนตร์ในปี 1973 แสดงคู่กับ โรเบิร์ต เรดฟอร์ด ภาพยนตร์ออกฉายประสบความสำเร็จทั้งรายได้จากรอบฉาย และมีเพลงดังอย่าง "The Way We Were" ที่ได้รับรางวัลออสการ์สาขาเพลงยอดเยี่ยมประจำปี ค.ศ. 1974



เธอยังเลือกนักเขียนเพลงรุ่นใหม่อย่างเช่น ในอัลบั้มชุด Stoney End มีเพลง "If I Could Read My Mind" เขียนโดย กอร์ดอน ไลต์ฟุต, "Stoney End" และ "Time And Love" เขียนโดยลอรา ไนโร จากนั้นตามด้วยชุด Barbra Joan Streisand เพลง "Where You Lead" เขียนโดย คาโรล์ คิง

ต่อมาในปี ค.ศ. 1976 เธอโด่งดังอีกครั้งกับหนังเรื่องใหม่ A Star Is born ที่มีเพลงดังอย่าง "Evergreen" ซึ่งเธอร่วมเขียนกับ พอล วิลเลียม และเพลงนี้ยังได้รับรางวัลออสการ์สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ต่อมาในปลายปี ค.ศ. 1978 เพลง "You Don't Bring Me Flowers" จากอัลบั้ม The Greatest Hits Vol 2 ที่เธอร้องดูเอตกับ นีล ไดมอนด์ ก็สามารถขึ้นอันดับ 1 บนชาร์ตบิลบอร์ด จากนั้นในปี 1980 เธอขอให้แบร์รี กิบบ์ เขียนเพลงให้กับเธอขับร้องในอัลบั้มชุด Guilty ซึ่งชุดนี้ขายทั่วโลกถึง 20 ล้านก๊อบปี้ หลังจากนั้นเธอได้ก้าวเป็นผู้อำนวยการสร้าง เขียนบท และกำกับภาพยนตร์ เรื่อง Yentl (1983) ถึงแม้รายได้จะไม่ดีนัก แต่ก็ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์ รวมทั้งได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ



ในระยะหลังเธอมีผลงานภาพยนตร์อย่างเรื่อง The Prince Of Tides (1990), The Mirror Has Two faces (1997) และ Meet The Fickers (2004) เธอกลับมาทำผลงานเพลงอีกครั้ง กับเพลง "As If We Never Said Goodbye" จากละครเพลงเรื่อง Sunset Boulevard และในปี 2005 เธอกลับมาร่วมงานกับ แบร์รี กิบบ์ ในอัลบั้ม Guilty Pleasures

ในปี 2001 ได้มีเหตุการณ์ที่เธอนั้นพยายามปกปิดภาพถ่ายบ้านของเธอในปี พ.ศ. 2546 แต่กลับทำให้ภาพถ่ายดังกล่าวเป็นที่สนใจมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีกรณีอื่น ๆ อีก เช่น ในการส่งคำบอกกล่าวให้หยุดกระทำการละเมิด (cease-and-desist) เพื่อให้มีการปกปิดตัวเลขที่สงวนไว้สำหรับผู้ทรงลิขสิทธิ์ (illegal numbers) ไฟล์ หรือเว็บไซต์ ความปรากฏว่าแทนที่สิ่งที่ระบุให้ปกปิดนั้นจะได้รับการปกปิด ข้อมูลเหล่านั้นกลับก่อให้เกิดความสนใจจากสังคม และก่อให้เกิดการทำซ้ำ (mirror) บนอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายแจกจ่ายไฟล์ (file-sharing network) อย่างกว้างขวาง หรือในบางกรณีก่อให้เกิดเพลงล้อเลียนหรือวิดีโออันเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวด้วย ต่อมาได้มีการเรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า ปรากฏการณ์สไตรแซนด์